วัตถุประสงค์
ชีวมวล (Biomass) เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานของพืชที่ต้องอาศัยแสงอาทิตย์ในการสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโต จากนั้นแปรเปลี่ยนสภาพเป็นของแข็งหรือแปรสภาพเป็นของเหลวที่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิลได้จัดเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่สำคัญชนิดหนึ่งชีวมวลที่นำมาใช้เป็นพลังงาน มีแหล่งที่มาได้ 2 แหล่งคือ
  • เศษวัสดุเหลือใช้จาก การเก็บเกี่ยวหรือจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรที่สามารถนำมาใช้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานได้
  • และจากการปลูกพืชเพื่อนำมาใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานโดยเฉพาะ
  • โครงการศึกษา พัฒนาระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยในครั้งนี้ จะนำเสนอเฉพาะในส่วนของระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลจากเศษวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวหรือจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรที่สามารถนำมาใช้เชื้อเพลิงได้ โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการคือ
    1. ศึกษา รวบรวมข้อมูลชีวมวลที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวหรือจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ได้แก่ ข้อมูลปริมาณที่เกิดขึ้น การนำไปใช้ประโยชน์และปริมาณคงเหลือในแต่ละปี
    2. พัฒนาระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวหรือจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร โดยนำเสนอฐานข้อมูลในรูปแบบศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลทุกชนิดที่มีอยู่ในแต่ละอำเภอของทุกจังหวัด ทุกภูมิภาคและทั่วทั้งประเทศ ด้วยเทคโนโลยีของแผนที่ เชิงภูมิสารสนเทศ ( GIS)


    เป้าหมาย
    การจัดทำระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยในครั้งนี้ มีเป้าหมายที่สำคัญคือ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ นักลงทุน นักวิจัยที่เกี่ยวข้องหรือสนใจด้านพลังงานชีวมวลใช้สำหรับศึกษาข้อมูลเบื้องต้นถึงศักยภาพชีวมวลที่เหลืออยู่ ( Residue Potential) ในแต่ละพื้นที่ เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบายส่งเสริมสนับสนุน ลงทุนหรือศึกษาวิจัย อย่างไรก็ดีหากมีการตัดสินใจที่จะดำเนินการใดๆ จะต้องทำการศึกษาข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่สามารถรวบรวมมาใช้ได้จริง ( Real Potential) อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนการตัดสินใจ
    ประเภทพืชและชนิดของชีวมวลที่ทำการศึกษา
    • ระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยที่พัฒนาและจัดทำขึ้นนี้ แสดงข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่เกิดขึ้นในพื้นที่เก็บเกี่ยวภายหลังการเก็บเกี่ยวหรือโค่นต้นได้แก่
      • 1.ฟางข้าว
      • 2.ใบและยอดอ้อย
      • 3.เหง้ามันสำปะหลัง
      • 4.ยอดใบและลำต้นข้าวโพด
      • 5.ใบและทางปาล์ม
      • 6.ยอดใบและลำต้นถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง
      • 7.จั่นและทะลายมะพร้าว
      • 8. ทางและใบมะพร้าว
      • 9.ลำต้นปาล์มน้ำมัน
      • 10. ปลายไม้ยางพารา
      • 11.ตอ รากและกิ่งก้านไม้ยางพารา
    • ข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมภายหลังการแปรรูป ได้แก่
      • 12.แกลบ
      • 13.ชานอ้อย
      • 14.ซังข้าวโพด
      • 15.เปลือกมันสำปะหลัง
      • 16.กากมันสำปะหลัง
      • 17.ทะลายปาล์มเปล่า
      • 18.เส้นใยปาล์ม
      • 19.กะลาปาล์ม
      • 20.ปีกไม้ยางพารา
      • 21.ขี้เลื่อยและเศษไม้ยางพารา
      • 22.เปลือก กาบและกะลามะพร้าว
      • 23.เปลือกมะม่วงหิมพานต์
    แนวทาง ขั้นตอนและข้อมูลที่ใช้ในการประเมินศักยภาพชีวมวล
    • การศึกษา รวบรวมเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยในครั้งนี้ มีแนวทางและขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ 2 ขั้นตอน
      • ( 1.) การศึกษา รวบรวมข้อมูลปริมาณการเกิด การนำไปใช้ประโยชน์และปริมาณคงเหลือของชีวมวลแต่ละชนิด
      • ( 2.) การจัดทำระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวล
    การประเมินปริมาณการเกิดชีวมวล
    มีขั้นตอนการดำเนินการและข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย
    • 1.รวบรวม ศึกษาปฎิทินการปลูก การเก็บเกี่ยวพืชที่เกิดชีวมวลภายหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูป พร้อมทั้งจำนวนพื้นที่ปลูก (ไร่/ปี) อัตราผลผลิต (ตัน/ไร่) และปริมาณผลผลิต (ตัน/ปี) ในแต่ละอำเภอ/จังหวัดทั่วประเทศจากรายงานประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย
      • 1. ข้าวนาปี
      • 2. ข้าวนาปรัง
      • 3. อ้อยโรงงาน
      • 4.มันสำปะหลัง
      • 5.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
      • 6.ปาล์มน้ำมัน
      • 7.ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง
      • 8.มะพร้าว
      • 9.มะม่วงหิมพานต์
    • 2.รวบรวมพื้นที่โค่นต้นยางพารา(ไร่/ปี) และพื้นที่โค่นต้นปาล์มในแต่ละอำเภอ/จังหวัดทั่วประเทศจากรายงานประจำปีของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    • 3.รวบรวม ศึกษาข้อมูลสัดส่วนการเกิดชีวมวลต่อปริมาณผลิต ได้แก่
        ตารางแสดงสัดส่วนการเกิดชีวมวลต่อปริมาณผลผลิตที่ใช้ประเมินปริมาณการเกิดชีวมวลแต่ละชนิด
        ชนิดพืช ชนิดชีวมวล สัดส่วนชีวมวลต่อผลผลิต(ตัน/ตันผลผลิต)
        1. ข้าว 1. ฟางข้าว 0.49
        2. แกลบ 0.21
        2. อ้อย 3. ใบและยอดอ้อย 0.17
        4. ชานอ้อย 0.28
        3. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5. ยอด ใบและลำต้นข้าวโพด 1.84
        6. ซังข้าวโพด 0.24
        4. มันสำปะหลัง 7. เหง้ามันสำปะหลัง 0.2
        8. กากมันสำปะหลัง 0.06
        9. เปลือกมันสำปะหลัง 0.28
        5. ปาล์มน้ำมัน 10. ลำต้นปาล์มน้ำมัน 1
        11. ใบและทางปาล์ม 1.41
        12. ทะลายปาล์มเปล่า 0.32
        13. เส้นใยปาล์ม 0.19
        14. กะลาปาล์ม 0.04
        6. ถั่วเหลือง  ถั่วเขียว  ถั่วลิสง 15. ยอด ใบและลำต้น 1.177
        7. ยางพารา 16. ตอ รากและกิ่งก้านไม้ยางพารา 5 ตันต่อไร่
        17. ปลายไม้ยางพารา 12 ตันต่อไร่
        18. ปีกไม้ยางพารา 12 ตันต่อไร่
        19. ขี้เลื่อยและเศษไม้ยางพารา 3 ตันต่อไร่
        8. มะพร้าว 20. จั่นและทะลายมะพร้าว 0.29
        21. เปลือกและกาบมะพร้าว 0.33
        22. กะลามะพร้าว 0.25
        9. มะม่วงหิมพานต์ 23. เปลือกมะม่วงหิมพานต์ 0.74
  • 4.การประเมินปริมาณการเกิดชีวมวลแต่ละชนิดในทุกอำเภอ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ดังสมการ ปริมาณชีวมวลที่เกิด (ตัน/ปี) = ปริมาณผลผลิต (ตัน/ปี) x สัดส่วนชีวมวลต่อปริมาณผลผลิต (ตันชีวมวล/ตันผลผลิต) ปริมาณชีวมวลที่เกิด (ตัน/ปี) = ปริมาณพื้นที่โค่น (ไร่/ปี) x สัดส่วนชีวมวลต่อพื้นที่โค่น (ตันชีวมวล/ไร่)
  • 5.ศึกษา รวบรวมข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่เป็นแหล่งกำเนิดชีวมวลแต่ละชนิดในแต่ละอำเภอ/จังหวัดทั่วประเทศจากฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล โรงสีข้าวโพด โรงงานแป้งมันสำปะหลัง โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา โรงงานแปรรูปมะพร้าว โรงงานแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และอื่นๆ
  • 6.ประเมินปริมาณชีวมวลทุกชนิดที่เกิดขึ้นในแต่ละอำเภอของทุกจังหวัด
  • 7.สุ่มสำรวจปริมาณการเกิดชีวมวลแต่ละชนิดเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการประเมินการเกิดชีวมวลแต่ละชนิด ทั้งชีวมวลที่เกิดขึ้นในพื้นที่เก็บเกี่ยวภายหลังการเก็บเกี่ยวและชีวมวลที่เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
  • การประเมินปริมาณการใช้ชีวมวลแต่ละชนิด
    มีขั้นตอนการดำเนินการและข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย
    • 1.ศึกษา รวบรวม ข้อมูลแนวทางและความเป็นไปได้ในการนำชีวมวลแต่ละชนิดไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า การนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานความร้อน การนำไปใช้ในภาคปศุสัตว์ ภาคเกษตรและอื่นๆ
    • 2.ศึกษา รวบรวมข้อมูลโรงไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าและ/หรือความร้อนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กระทรวงพลังงานและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
    • 3.ศึกษา รวบรวมข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตความร้อนและ/หรือพลังงานไฟฟ้า จากฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้หม้อน้ำ หม้อน้ำมันร้อน เตาเผาและเตาอบ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
    • 4.ศึกษา รวบรวมข้อมูลการนำชีวมวลแต่ละชนิดไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่นในภาคปศุสัตว์ ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ ในภาคเกษตรใช้คลุมดิน เป็นต้น
    • 5.ประเมินปริมาณชีวมวลทุกชนิดที่มีการนำไปใช้ประโยชน์แล้ว ได้แก่การนำไปใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าและผลิตพลังงานความร้อน ใช้เลี้ยงสัตว์ ใช้คลุมดิน และอื่นๆ โดยทำการประเมินในแต่ละอำเภอของทุกจังหวัดทั่วประเทศ
    • 6.สุ่มสำรวจปริมาณการใช้ชีวมวลต่ละชนิดในโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ภาคปศุศัตว์ ภาคเกษตร เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการประเมินการใช้ชีวมวลแต่ละชนิด
    ผลการประเมินศักยภาพพลังงานชีวมวลแต่ละชนิด
    มีขั้นตอนการดำเนินการและข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย
    • 1. การประเมินปริมาณคงเหลือของชีวมวลแต่ละชนิดในแต่ละอำเภอของทุกจังหวัดทั่วประเทศ ดังสมการ
    • ปริมาณคงเหลือของชีวมวลแต่ละชนิด = ปริมาณที่เกิด – (ปริมาณที่นำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า + ปริมาณที่นำไปใช้สำหรับผลิตความร้อน + ปริมาณที่นำไปใช้ในภาคส่วนอื่นๆ)
    • 2. ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินศักยภาพพลังงานของชีวมวลของชีวมวลแต่ละชนิด ประกอบด้วย
      • 2.1 ค่าความร้อนของชีวมวลแต่ละชนิด
      • ตารางแสดงค่าความร้อนและความชื้นของเชื้อเพลิงที่ใช้ประเมินศักยภาพแต่ละชนิด
    ชนิดชีวมวล ค่าความชื้น(%) ค่าความร้อน(MJ/kg)
    1. ฟางข้าว 10 12.33
    2. แกลบ 12 13.52
    3. ใบและยอดอ้อย 9.2 15.48
    4. ชานอ้อย 50.73 7.37
    5. ยอด ใบและลำต้นข้าวโพด 42 9.83
    6. ซังข้าวโพด 40 9.62
    7. เหง้ามันสำปะหลัง 40 5.49
    8. กากมันสำปะหลัง 59.4 1.47
    9. เปลือกมันสำปะหลัง 59.4 1.49
    10. ลำต้นปาล์มน้ำมัน 48.40 7.54
    11. ใบและทางปาล์ม 78 1.76
    12. ทะลายปาล์มเปล่า 58.60 7.24
    13. เส้นใยปาล์ม 38.50 11.40
    14. กะลาปาล์ม 12 16.90
    15. ถั่วเขียว ถั่วลิสง 10.93 16.23
    16. ตอ รากและกิ่งก้านไม้ยางพารา 55 6.57
    17. ปลายไม้ยางพารา 55 6.57
    18. ปีกไม้ยางพารา 55 6.57
    19. ขี้เลื่อยและเศษไม้ยางพารา 55 6.57
    20. จั่นและทะลายมะพร้าว 12 15.4
    21. เปลือกและกาบมะพร้าว 12 16.23
    22. กะลามะพร้าว 12 17.93
    23. เปลือกมะม่วงหิมพานต์ 6.6 5.49
  • 2.2 ค่าความร้อนเทียบเท่าพันตันน้ำมันดิบ
  • 1 ktoe = 42,120,000 MJ = 11,700,000 k-Wh
  • 2.3 กำลังผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้า (MW)
  • เงื่อนไขคือโรงไฟฟ้าเดินเครื่อง 24 ชม./วัน 330 วัน/ปี ที่ประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า 20 %
    ผลการประเมินศักยภาพพลังงานชีวมวลแต่ละชนิด

    ตารางแสดงผลการประเมินศักยภาพชีวมวลแต่ละชนิด

    ชนิดชีวมวล ปริมาณที่เกิด (ตัน) ปริมาณที่นำไปใช้ประโยชน์แล้ว (ตัน) ปริมาณคงเหลือ (ตัน) ค่าความร้อน (TJ) เทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) เทียบเท่าไฟฟ้า (GW-h) กำลังการผลิตติดตั้ง (MW)
    1. ฟางข้าว 19,005,628.14 8,112,801.26 10,892,826.89 134,308.56 3,188.71 7,461.59 942.12
    2. แกลบ 8,145,269.20 8,006,283.36 138,985.84 1,879.09 44.61 104.39 13.18
    3. ใบและยอดอ้อย 17,016,248.08 1,845,487.74 15,170,760.34 234,843.37 5,575.58 13,046.85 1,647.33
    4. ชานอ้อย 28,026,761.54 28,026,761.54 0 0 0 0 0
    5. ยอด ใบและลำต้นข้าวโพด 9,315,603.52 465,780.18 8,849,823.34 86,993.76 2,065.38 4,832.99 610.23
    6. ซังข้าวโพด 1,215,078.72 1,094,081.58 120,997.14 1,163.99 27.64 64.67 8.16
    7. เหง้ามันสำปะหลัง 6,045,508.40 164,196.52 5,881,311.88 32,288.40 766.58 1,793.80 226.49
    8. กากมันสำปะหลัง 1,813,652.52 1,813,652.52 0 0 0 0 0
    9. เปลือกมันสำปะหลัง 8,463,711.76 8,463,711.76 0 0 0 0 0
    10. ลำต้นปาล์มน้ำมัน 1,957,280.00 - 1,957,280.00 14,757.89 350.38 819.88 103.52
    11. ใบและทางปาล์ม 18,065,006.01 1,707,454.87 16,357,551.14 28,789.29 683.51 1,599.41 201.95
    12. ทะลายปาล์มเปล่า 4,099,859.52 1,891,985.90 2,207,873.62 15,985.00 379.51 888.06 112.13
    13. เส้นใยปาล์ม 2,434,291.59 2,434,291.59 0 0 0 0 0
    14. กะลาปาล์ม 512,482.44 512,482.44 0 0 0 0 0
    15.ใบและลำต้นถั่วเหลือง เขียว ลิสง 65,017.48 3,250.87 61,766.61 1,002.47 23.80 55.69 7.03
    16. ตอ รากและกิ่งก้านไม้ยางพารา 1,094,365.00 218,873.00 875,492.00 5,751.98 136.56 319.55 40.35
    17. ปลายไม้ยางพารา 2,626,476.00 2,626,476.00 0 0 0 0 0
    18. ปีกไม้ยางพารา 2,626,476.00 2,626,476.00 0 0 0 0 0
    19. ขี้เลื่อยและเศษไม้ยางพารา 656,619.00 656,619.00 0 0 0 0 0
    20. จั่นและทะลายมะพร้าว 292,909.57 56,824.46 236,085.11 3,635.71 86.32 201.98 25.50
    21. เปลือกและกาบมะพร้าว 333,310.89 329,976.78 3,334.11 54.11 1.28 3.01 0.38
    22. กะลามะพร้าว 252,508.25 230,540.03 21,968.22 393.89 9.35 21.88 2.76
    23. เปลือกมะม่วงหิมพานต์ 70,038.56 1,674.28 68,364.29 375.32 8.91 20.85 2.63
    รวม 134,134,102.21 71,289,681.68 62,844,420.53 562,222.85 13,348.12 31,234.60 3,943.76
    หมายเหตุ ข้อมูลของปีการเพาะปลูก พ.ศ. 2556

    ตัวอย่างการใช้งานฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวล
    ภายหลังการดำเนินการศึกษา รวบรวม ประเมินและสำรวจปริมาณการเกิด การนำไปใช้ประโยชน์แล้วและปริมาณคงเหลือของชีวมวลทั้ง 23 ชนิด ในทุกอำเภอทุกจังหวัดเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลศักยภาพชีวมวลดังกล่าวจะถูกนำเข้าฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่พัฒนาและจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอเผยแพร่ในเวบไซต์ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยขั้นตอนการใช้งานฐานข้อมูลมีดังต่อไปนี้คือ
    • 1. เข้าเวบไซต์กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน WWW.dede.go.th ซึ่งหน้าเวปจะแสดงดังรูป
    • 2. จากหน้าเวป พพ. คลิกที่ศักยภาพพลังงานทดแทน หน้าเวบจะแสดง ดังรูป
    • 3. เมื่อคลิกที่ศักยภาพพลังงานชีวมวล หน้าเวบจะแสดงข้อมูลศักยภาพชีวมวลระดับประเทศและแต่ละภูมิภาค ดังรูป
    • 4. เมื่อคลิกที่ Thailand จะแสดงข้อมูลรายละเอียดชีวมวลแต่ละชนิด ประจำปีเพาะปลูก 2556
    • 5. ในขณะที่ถ้าคลิกที่ภูมิภาคใดๆ ก็จะเป็นรายละเอียดชีวมวลแต่ละชนิดของภาคนั้นๆ ประจำปีเพาะปลูก 2556
    • 6. เมื่อคลิกที่ box ขวามือจะแสดงข้อมูลศักยภาพชีวมวลของแต่ละจังหวัดในแต่ละภูมิภาค ดังรูปตัวอย่าง





    • 7. เมื่อคลิกที่จังหวัดใดจะแสดงข้อมูลรายละเอียดชีวมวลแต่ละชนิด ณ จังหวัดนั้น ๆ ประจำปีเพาะปลูก 2556

    • 8. เมื่อคลิกที่ box ขวามือของจังหวัดใดๆ ก็จะแสดงข้อมูลศักยภาพชีวมวลของแต่ละอำเภอในแต่ละจังหวัด ดังรูปตัวอย่าง

    • 9. เมื่อคลิกที่อำเภอใดจะแสดงข้อมูลรายละเอียดชีวมวลแต่ละชนิด ณ อำเภอนั้น ๆ ประจำปีเพาะปลูก 2556

    สรุป
    กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) คาดหวังว่า ฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยที่ได้พัฒนาและจัดทำขึ้นครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานของประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ นักลงทุนภาคเอกชน นักวิชาการหรือนักวิจัย นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป สำหรับใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ต่อไป อย่างไรก็ดี ข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่นำเสนอเป็นข้อมูลศักยภาพที่รวบรวมปริมาณชีวมวลทุกชนิดที่คงเหลืออยู่ ( Residue Potential) ในแต่ละอำเภอของแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นข้อมูลจากการประเมินและสุ่มสำรวจเท่านั้น ข้อมูลดังกล่าวสามารถใช้ประโยชน์สำหรับพิจารณาประกอบการตัดสินใจถึงความเป็นไปได้ (Feasibility) ในการดำเนินโครงการในเบื้องต้น อาทิเช่น การพิจารณาว่าในอำเภอใด จังหวัดใดหรือภูมิภาคใดมีชีวมวลชนิดไหนบ้างที่คงเหลืออยู่และเหลืออยู่เท่าไร มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นพลังงานได้หรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐในการพิจารณาจัดทำนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการนำชีวมวลมาใช้เป็นพลังงานทดแทน เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนในแง่ของการพิจารณาตัดสินใจลงทุนและเป็นประโยชฯต่อนักวิชาการ/นักวิจัยที่จะใช้สำหรับพิจารณาศึกษาวิจัยต่อยอด เป็นต้น ตัวอย่างเช่น หากพิจารณาชีวมวลที่มีปริมาณคงเหลือและมีศักยภาพมากที่สุดในประเทศไทยคือใบและยอดอ้อย 1,647 MW โดยจังหวัดที่มีปริมาณคงเหลือและศักยภาพสูงสุดคือจังหวัดนครสววรค์รวม 137.6 MW โดยอำเภอที่มีปริมาณคงเหลือและศัยภาพสูงสุด 3 อำเภอแรกคือ พยุหะคีรี ตาคลีและตากฟ้า 34.46 MW 29.32 MW และ 26.33 MW เรียงตามลำดับ แต่หากประสงค์ที่จะดำเนินโครงการหรือลงทุนนำใบและยอดอ้อยมาใช้เป็นพลังงานทดแทน ต้องทำการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม อาทิเช่น ปริมาณใบและยอดอ้อยที่ที่เหลืออยู่จริงที่ไม่ได้ถูกเผาไฟก่อนตัดส่งโรงงานน้ำตาล ปริมาณที่สามารถรวบรวมนำมาใช้ได้จริง เป็นต้น เพื่อให้ได้ข้อมูลปริมาณและศักยภาพที่แท้จริง (Real Potential) ก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างจริงจัง และชีวมวลชนิดอื่นๆ ก็ต้องศึกษาปริมาณและศักยที่แท้จริงเช่นเดียวกัน ในอนาคต พพ. จะพยายามพัฒนาฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยนี้ให้มีความทันสมัย พร้อมทั้งปรับปรุงข้อมูลศักยภาพชีวมวลให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามตามวิสัยทัศน์ของ พพ. คือ “เป็นองค์กรฐานความรู้ (Knowledge Base) และศูนย์กลางในการผลักดันพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน” ต่อไป
    กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330